ข้อมูลควรรู้เพื่อความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน
29/03/2025 15:00:00
หากวันนี้เราลองหันไปมองรอบๆตัว รอบๆพื้นที่การทำงาน แล้วพบว่าในพื้นที่การทำงานของเรามีระบบการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุมากมาย เช่น มีถังดับเพลิง มีการ์ดป้องกันเครื่องจักร มีเส้นทางเดิน หรือ Walk Way มีป้ายเตือนความปลอดภัยต่างๆ มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ PPE ไว้ให้ในทุกๆพื้นที่ หรือแม้กระทั่ง มีนโยบายความปลอดภัยที่ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เราคิดว่า หากเรามีสิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างครบถ้วนแล้วอุบัติเหตุจะไม่เกิด นั่นหมายความว่าเรากำลังหลงทางอยู่ในวังวนของการป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่เคยได้ผลจริงๆ ตราบใดที่คนในองค์กร ยังขาดสิ่งที่เรียกว่า Safety Mindset และนั่น จะทำให้ นโยบายความปลอดภัยที่ดี ก็เหมือนกระดาษเปล่าๆ ใบหนึ่ง อุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่างๆ ก็เหมือนเครื่องประดับ เท่านั้นเอง
ก่อนมาเข้าเรื่อง Safety Mindset มาทำความรู้จัก Mindset กันก่อน ซึ่งเรื่องของ Mindset เป็นเรื่องของบุคคลหรือเป็นสิ่งที่บอกความเป็นตัวตนของเราได้ เพราะ Mindset จะเป็นตัวกำหนด พฤติกรรม ที่เราแสดงออกไป โดย Carol Dweck ผู้คิดค้นทฤษฏีเกี่ยวกับ Mindset ได้แบ่ง Mindset ออกเป็น 2 แบบ คือ
"Fixed mindset" คือ "กรอบความคิดแบบดังเดิม หรือยึดติด อยู่ในกรอบเดิมๆ เกรงกลัวความผิดพลาด ไม่กล้าเสี่ยงแม้มีปัจจัยหลายๆอย่างสนับสนุนในเชิงบวก
"Growth Mindset" คือ กรอบความคิดแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า เชื่อในศักยภาพของคน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดประสิทธิภาพเป็นอย่างดี การพัฒนาระบบการคิด รวมทั้งการให้เครื่องมือและวิธีการ เพื่อช่วยให้สามารถคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์แก่บุคคลากร (ที่มา: Fixed Mindset กับ Growth Mindset กับการเติบโตขององค์กร โดย ศศิมา สุขสว่าง)
ดังนั้นการพัฒนาด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในองค์กร จะต้องอาศัย Growth Mindset ในด้านของความปลอดภัยด้วยเช่นกัน การที่จะทำให้ทุกคนในองค์กรจะมี Growth Mindset ที่เหมือนกัน หรือตรงกันเพื่อให้ความปลอดภัยเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้ เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวเลย เนื่องจาก Growth Mindset เป็นเรื่องที่สร้างได้ และ Safety Mindset ก็สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ภายในองค์กรเช่นกัน
การเริ่มสร้าง Safety Mindset ขึ้นภายในองค์กร จะต้องเข้าใจระหว่าง Mindset และ Attitude ก่อนว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ในการเดินตรวจหน้างานของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยพบว่า พนักงานคนหนึ่ง มีหน้าที่ขับโฟล์คลิฟท์ โดยปกติพนักงานคนดังกล่าวจะปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องของความปลอดภัยอยู่เสมอ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ การตรวจเช็ครถก่อนใช้งาน แต่พนักงานคนดังกล่าว ไม่ชอบสวมหมวกนิรภัยขณะขับรถ ถึงแม้จะถูกตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยมาแล้วหลายครั้งก็ตาม จากการสอบถามพนักงานพบว่า พนักงานคิดว่าการใส่หมวกนิรภัยเป็นเรื่องไม่จำเป็นและทำให้รู้สึกอึดอัดมากกว่าจึงไม่ยอมใส่หมวกนิรภัย จากตัวอย่างข้างต้นสามารถกล่าวได้ว่า Attitude เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้เกิด Mindset ขึ้นมา อธิบายง่ายๆก็คือ Attitude จะเป็นความรู้สึกของเรากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น พนักงานมี Attitude ที่ดีในการคาดเข็มขัดนิรภัย พนักงานมี Attitude ที่ดีในเรื่องของการตรวจเช็ครถก่อนใช้งาน พนักงานมี Attitude ที่ไม่ดีต่อการใส่หมวกนิรภัย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นว่า หลายๆ Attitude รวมกัน ก็คือ 1 Mindset การสร้าง Safety Mindset ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร เราต้องแยกออกมาว่ากลุ่มของ Attitude ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของ Safety Mindset มีอะไรบ้าง การเปลี่ยนให้องค์กรมี Safety Mindset ไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยน Attitude เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งแค่เรื่องเดียว แต่การเปลี่ยนให้องค์กรมี Safety Mindset คือ การเปลี่ยนหลายๆ Attitude ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของความปลอดภัย ดังนั้นเราต้องมาดูว่า Safety Mindset ที่เราต้องการ มี Attitude อะไรบ้างที่เป็น เกี่ยวข้องในเรื่องความปลอดภัยในองค์กรของเรา และ มีความสำคัญต่อ Safety Mindset อย่างไร การเริ่มสร้าง Safety Mindset ไม่จำเป็น ต้องปรับทุก Attitude แต่ให้เรา Focus ไปที่เรื่องหลักๆในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยภายในองค์กรของเราก็พอ